สำหรับผู้ที่ใช้งานแท็บเล็ตแอนดรอยด์หลาย ๆ คนคงจะมีแท็บเล็ตตัวโปรดที่ใช้งานกันอยู่ และก็เป็นแท็บเล็ตยอดนิยมในตลาดไม่ว่าจะเป็น Samsung , HTC หรือแท็บเล็ตเจ้าอื่น ๆ ก็ตาม อย่างไรก็ดีมีแท็บเล็ตอีกยี่ห้อหนึ่งที่แม้จะไม่ได้ความนิยมในวงกว้างเท่าไหร่แต่ก็มีผู้ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย นั่นคือ แท็บเล็ตจาก Amazon ที่มาในชื่อของ Kindle Fire นั่นเอง สำหรับแอดมินเองก็เป็นอีกคนนึงที่ใช้เจ้า Kindle Fire กับเค้าด้วย เลยถือโอกาสเขียนรีวิวเจ้าเครื่องนี้เสียเลย เพราะว่าเป็นแท็บเล็ตรุ่นนึงที่หาข้อมูลจากผู้ใช้จริงในไทยได้ยากเหลือเกิน อย่างไรก็ตามต้องขอบอกไว้ก่อนว่าแท็บเล็ตที่เขียนถึงนั้นไม่ใช่รุ่นล่าสุดแต่อย่างใด เพราะอเมซอนเพิ่งจะเปิดตัวแท็บเล็ตรุ่นใหม่ไปเมื่อประมาณต้นเดือนที่ผ่านมา และก็การรีวิวต่าง ๆ คงจะไม่ได้เปรียบเทียบในแง่ของสเป็คเครื่องหรืออะไรที่ไปในทางเทคนิคจ๋า เพราะไม่ถนัดเลยส่วนหนึ่งและความตั้งใจในการเขียนรีวิวนี้ก็เพื่อจะพูดในแง่การใช้งานจริง ๆ มากกว่าเผื่อว่าจะช่วยให้ใครที่สนใจ Kindle Fire อยู่จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น
จริง ๆ แล้วแท็บเล็ต Kindle Fire ก็เป็นแท็บเล็ตแอนดรอยด์ตัวหนึ่ง แต่จะบอกว่ามันคือแอนดรอยด์แท็บเล็ตเลยก็ไม่น่าจะใช่ เนื่องจากว่าแท็บเล็ตแอนดรอยด์จะมีความยืดหยุ่นสูง ปรับแต่งการใช้งานได้ตามสกิลของคนใช้ และก็แน่นอนว่าจะต้องใช้งาน Google Play Store ได้อย่างสะดวกสบาย แต่ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นไม่มีใน Kindle Fire เลยสักข้อ อย่างแรกก็คือ ไม่สามารถใช้งาน Google Play Store ได้ ส่วนการปรับแต่งก็ทำได้จำกัดเท่าที่อเมซอนจะเปิดให้สำหรับผู้ใช้งานระดับ User ทั่ว ๆ ไป ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เนื่องมาจาก Kindle Fire ได้ใช้ระบบของแอนดรอยด์ก็จริง แต่ก็เอาไปปรับแต่งใหม่ให้กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ได้เฉพาะแท็บเล็ตของอเมซอนเอง โดยตั้งชื่อว่า Fire OS พูดง่าย ๆ ว่า Fire OS เป็นระบบเฉพาะของตัวเองโดยอิงจาก OS หลัก คือ Android OS
ทำไมอเมซอนถึงจำกัดการใช้งาน ? ถ้าหากใครเป็นลูกค้าหรือซื้อของจากอเมซอนอยู่บ่อย ๆ ก็คงจะรู้ดีว่าการเป็นร้านค้าออนไลน์เบอร์ 1 นั้นไม่ได้มากันแบบฟลุ๊ค ๆ แต่เป็นเพราะอเมซอนนั้นเมพขิง ๆ ในด้านการมีสินค้าที่หลากหลายรวมไปถึงโปรโมชั่นล่อใจมากมาย การที่อเมซอนผลิตแท็บเล็ตราคาถูกคุณภาพดีออกมาจำหน่าย และขายดีเป็นเทน้ำเทท่านั้น ก็เพราะในแง่คนซื้อเราอาจจะมองแท็บเล็ตดังกล่าวเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนใจ แต่สำหรับอเมซอนมันคือ เครื่องขายสินค้าดี ๆ นี่เอง เพราะผู้ซื้อแท็บเล็ตจะได้ซื้อทั้งอีบุ๊ค เพลง หนัง และนิตยสาร จากอเมซอนได้เลยจากเครื่องเดียว แล้วเหตุอันใดจะไปทำแท็บเล็ตระบบเปิดให้เงินลูกค้าลอยไปที่อื่นกันเล่า ? เมื่อเดินทางมาถึงบางอ้อแล้วจึงไม่น่าแปลกใจกับแนวคิดแบบปิดประตูตีแมวซักเท่าไหร่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่อเมซอนทำเช่นนี้ได้เพราะมี Digital Content ที่แข็งแรงมาก คล้าย ๆ กับ iOS ที่มี Digital Content แข็งแรงมาก ๆ เช่นกัน
จุดเด่นของ Kindle Fire (ตอนนี้อเมซอนเรียกว่า Fire เฉย ๆ) ก็คือเป็นแท็บเล็ตคุณภาพดีและราคาไม่แพง เหมาะกับการใช้งานสำหรับลูกค้าในสหรัฐ อาจจะรวมไปถึงยุโรปด้วย แต่ถ้าจะพูดถึงราคา Kindle Fire ในไทยแล้ว คงพูดไม่ได้ว่าเป็นแท็บเล็ตราคาถูกซะแล้ว เพราะเช็คจากราคาขายจากตัวแทนจำหน่ายในไทยอย่างเช่น Kindle Thailand ก็บวกไปเกือบ ๆ สองเท่าเลยทีเดียว หรือถ้าหากใครสนใจจะซื้อแท็บเล็ตออนไลน์จากอเมซอนโดยตรง เมื่อรวมยอดดูแล้วก็ไม่ได้ต่างกันมากมาย แต่การซื้อกับอเมซอนตรง ๆ อาจจะดีกว่าหน่อยตรงที่ถ้าหากแท็บเล็ตมีปัญหาเราก็สามารถเคลมได้ง่าย เพราะอเมซอนขึ้นชื่อในการบริการที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว
สำหรับแอดมินแล้ว โดยความตั้งใจแรกนั้นก็คืออยากได้แท็บเล็ตมาอ่านหนังสือเป็นหลัก ใช้ท่องเน็ตและใช้งาน App ต่าง ๆ นิดหน่อย เพราะได้ซื้ออีบุ๊คจากอเมซอนไว้มากโขอยู่ และก่อนหน้านี้ก็ใช้วิธีอ่านอีบุ๊คจาก Amazon Cloud Reader เอา (โดยจะต้องเปิดอ่านจากเครื่องคอมพิวเตอร์) ครั้นจะซื้ออีรีดเดอร์ก็คิดว่าควรจะรอ Kindle Paperwhite รุ่นใหม่ ออกมาเสียก่อนดีกว่า ด้วยเหตุผลที่เข้าท่าบ้างไม่เข้าท่าบ้าง ก็เลยได้ Kindle Fire HD 8.9 2012 มาไว้ในมือจนได้ หลังจากนั้นก็ใช้งานเจ้าเครื่องดังกล่าวนี้ไปได้ 2 เดือนกว่า ๆ อย่างสบายอารมณ์ แต่ต่อมาไม่นานแท็บเล็ตตัวนี้ก็ได้เลื่อนขั้นเป็นที่ทับกระดาษชั่วคราวไปเสียอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ Kindle Fire เป็นแท็บเล็ตที่ผลิตออกมาได้ดีมาก ๆ ตลอดสองเดือนที่ใช้งาน เครื่องไม่เคยรวน มีปัญหาอะไรก็ถามเจ้าหน้าที่ได้แถมตอบข้อสงสัยได้หมด แต่ว่า…
ของทุกอย่างไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเรา Kindle Fire ก็คงเป็นแบบนั้น เพราะในบรรดาสินค้าและบริการที่ผูกติดมากับเครื่องนั้น ผู้ใช้งานในไทยจะใช้ได้แค่เพียง การซื้อและอ่านอีบุ๊ค และรวมไปถึงออดิโอบุ๊คด้วย ส่วนสินค้าอื่น ๆ อย่างเช่น จะซื้อเพลง จะเช่าหนัง หรือใช้สิทธิอื่น ๆ นั้นก็ทำไม่ได้ เพราะบริการเหล่านี้มีให้แต่ในสหรัฐและอาจจะมียุโรปด้วย (ตรงนี้ไม่แน่ใจ) เพราะฉะนั้นคนไทยอด หมดสิทธิ์ ครั้นจะหันไปหาความบันเทิงจาก App Store นั้นก็จะพบว่า Amazon App Store นั้นมีแอพให้น้อยเหลือเกิน ใครคิดจะดูแอพทีวีไทย แอพของกูเกิ้ลหรือจะหาอะไรอินดี้มาก ๆ ขอรับรองว่ามันแทบจะไม่มีจริง ๆ และด้วยความเป็นแท็บเล็ตเพราะฉะนั้นเราจึงยังใช้ Browser ในการท่องเว็บได้ โดยอเมซอนจะติดตั้งเบราเซอร์ของตัวเองมาให้ ซึ่งมีชื่อว่า Silk Browser สำหรับการใช้งานก็โอเคทีเดียว การท่องเว็บอะไรก็ไม่มีปัญหาใช้งานได้ง่าย
แต่ถ้ามองในแง่การใช้งานแท็บเล็ตแล้ว ใช้ไปสักพักจะรู้สึกเลยว่ามันอึดอัด แม้ความตั้งใจจริง ๆ จะเอาไว้อ่านอีบุ๊คก็ตาม แต่ใครกันล่ะจะอ่านได้ตลอดทั้งวี่ทั้งวัน ด้วยเหตุนี้แท็บเล็ตอเมซอนตัวดังกล่าวจึงนอนนิ่งอยู่อย่างสวย ๆ เป็นเวลาเกือบเดือน
ความจริงแล้วการรูทแท็บเล็ตแอนดรอยด์ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรนักเพราะความที่เป็นที่นิยมกันมาก ข่าวสารต่าง ๆ จึงหาได้ง่ายและมีให้ลองได้หลายวิธี แต่สำหรับการรูท Kindle Fire แล้วขอบอกเลยว่ามันยากจริง ๆ ถ้าหากไม่ใช่ Super User ที่เก่งจริง ๆ นั้นทำได้ยากมาก แอดมินซึ่งเป็น User แสนธรรมดาจึงใช้วิธีลัดด้วยการซื้อโปรแกรมรูทกึ่งสำเร็จรูปเอาแทน ในที่สุดจึงได้ปลดแอกและได้ใช้งานแท็บเล็ตโฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม เพราะว่ามันกลายเป็น Kindle Fire Rooted ไปแล้วนั่นเอง สำหรับในแง่การใช้งานหลังจากรูทแล้วก็ไม่ต่างจากแท็บเล็ตแอนดรอยด์ทั่ว ๆ ไป
[box]การรูทเครื่องจะทำให้หมดประกัน จึงเท่ากับเราต้องดูแลแท็บเล็ตอย่างดี และด้วยความที่ไม่ใช่แท็บเล็ตรุ่นยอดนิยมแถมยังรูทไปเรียบร้อย จึงปิดประตูเรื่องความคิดที่จะขาย Kindle Fire HD ตัวปัจจุบันลงไปได้เลย ดังนั้นผู้คิดจะใช้แท็บเล็ต Fire จึงควรคิดถึงจุดนี้ด้วย[/box]สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าควรจะรูทตัวเครื่อง Kindle จะดีไหม จึงขอเปรียบเทียบการใช้งานโดยอิงประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งอาจจะไม่เป็นข้อมูลที่ถือเป็นมาตรฐานเท่าไหร่ โดยจะแยกเป็นข้อ ๆ คือ
จบในส่วนของรีวิวกันไปแล้ว ก็อยากจะแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับแท็บเล็ตรุ่นต่าง ๆ ของอเมซอนกันไปในบทความนี้เลย ทั้งนี้ตั้งใจว่าถ้าหากมีข่าวแท็บเล็ตจากอเมซอนรุ่นใหม่ ๆ ออกมาวางขายอีกเมื่อไหร่ ก็จะอัพเดทข้อมูลคร่าว ๆ เอาไว้ที่หน้านี้เลย เผื่อว่าถ้าใครสนใจจริง ๆ แต่ไม่รู้จะเลือก Kindle รุ่นไหนดีจะได้เปรียบเทียบข้อมูล Fire รุ่นต่าง ๆได้ง่ายขึ้น
อเมซอนได้ประกาศพร้อมวางจำหน่ายแท็บเล็ตรุ่นแรกคือ Kindle Fire (Previous Generation – 1st) ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2011 (อ้างอิง: Amazon unveils Kindle Fire tablet for $199, coming Nov. 15 , Amazon Kindle Fire tablet: $199, 7-inch screen, ships Nov. 15 ) แท็บเล็ตรุ่นดังกล่าวมีหน้าจอขนาด 7 นิ้ว และวางขายในราคา 199 ดอลล่าร์ สำหรับผู้ใช้แท็บเล็ตตัวนี้ก็จะสามารถเชื่อมต่อกับบริการต่าง ๆ ของอเมซอนได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้ออีบุ๊คออนไลน์ การซื้อหรือเช่าหนัง , ฟังเพลง , ดูรายการทีวีต่าง ๆ รวมทั้งดาวน์โหลดแอพจาก Amazon App Store เป็นต้น ซึ่งสินค้าต่าง ๆ ที่ซื้อมา เมื่อถูกลบออกจากตัวเครื่องก็จะถูกจะเก็บไว้ที่ Cloud เมื่อเราต้องการดาวน์โหลดมาดูใหม่อีกครั้งก็ทำได้ตลอด ลองชมวิดีโอเกี่ยวกับแท็บเล็ตคินเดิลไฟร์รุ่นแรกได้ตามด้านล่าง
วันที่ 6 กันยายน 2012 อเมซอนได้ประกาศพร้อมวางขาย Kindle Fire รุ่นที่สอง โดยใช้ชื่อว่า Kindle Fire HD และขนาดหน้าจอให้เลือก 2 แบบ คือรุ่น 7 นิ้ว วางตลาดในวันที่ 14 กันยายน และรุ่น 8.9 นิ้ว วางจำหน่ายในวันที่ 20 พฤศจิกายน โดยตั้งราคาขายเริ่มต้นที่ 159 เหรียญ (ข้อมูลเพิ่มเติม: Kindle Fire HD 7 ” 2012 , Kindle Fire HD 8.9″ 2012 ) และแท็บเล็ตของอเมซอนได้ปรับแต่ง Operating System (OS) ของตัวเองเสียใหม่ จากเดิมที่เป็น Android OS ให้เป็น Fire OS ซึ่งใช้ได้เฉพาะกับแท็บเล็ตตระกูลคินเดิลเท่านั้น
วีดีโอรีวิว Kindle Fire HD รุ่น 7 นิ้ว http://youtu.be/Riipdi0BSbc
ปีต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2013 อเมซอนได้วางจำหน่ายแท็บเล็ต Kindle Fire HD 7″ 3rd Generation ที่ราคาเริ่มต้นที่ 139 เหรียญ โดยขนาดความจุที่ 8GB และ 16GB นอกจากเปคแรงขึ้นแล้วยังปรับดีไซน์จากรุ่นเดิมที่มีมุมสัมผัสแบบโค้งมนให้เป็นแบบลาดเอียง
วีดีโอรีวิว Kindle Fire HD 7 นิ้ว รุ่น 2013 http://youtu.be/ZTsPPziI5Ak
หลังจากอัพเกรดแท็บเล็ตตระกูล HD ไปเดือนกว่า ๆ ทางอเมซอนก็ได้ปล่อยแท็บเล็ตรุ่นใหม่สเปคแรงกว่าเดิมในชื่อ Kindle Fire HDX ซึ่งพูดแบบเข้าใจง่าย ๆ ก็คือแท็บเล็ตรุ่นใหม่จะมีการแสดงผลหน้าจอที่ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ ประมาณว่า HDX ย่อมดีกว่า HD อะไรประมาณนั้น โดยมีขนาดหน้าจอให้เลือก 2 แบบคือ Kindle Fire HDX 7″ ซึ่งวางจำหน่ายเมื่อ 18 ตุลาคม 2013 ในราคา 229 และ Kindle Fire HDX 8.9″ วางจำหน่ายเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 ในราคา 379 เหรียญ ฟีเจอร์พิเศษที่เพิ่มมาก็คือ Mayday เอาไว้ช่วยแนะนำการใช้งานถ้าเกิดเจ้าของเกิดสงสัยเกี่ยวกับการใช้งานขึ้นมาก็ให้กดไปที่ปุ่ม Mayday จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ของอเมซอนโผล่ขึ้นมาบนหน้าจอคอยให้ความช่วยเหลือได้ โดยที่ผู้ใช้แท็บเล็ตจะเห็นหน้าตาเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่จะมองไม่เห็นเรา แต่ก็มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือเจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นหน้าจอของเราได้ ดังนั้นหากจะต้องพิมพ์รหัสส่วนตัวก็เป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่ต้องมองเห็นอย่างแน่นอน แอดมินจำได้ว่าเคยดูวีดีโอรีวิวเรื่องนี้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็มีแต่เสียงหัวเราะให้กลับมาเป็นคำตอบ
วีดีโอรีวิว Kindle Fire HDX 8.9″ http://youtu.be/5ndz5NjFQJA
ปลายปี 2014 ทางอเมซอนได้ส่งแท็บเล็ตออกวางขายถึง 5 รุ่นด้วยกัน โดยแยกเป็นรุ่นต่าง ๆ ดังนี้
เดือนตุลาคม 2014 ทางอเมซอนได้วางหน่ายแท็บเล็ต Kindle Fire HD โดยปรับชื่อใหม่เป็น Fire HD Tablet และมี 2 ขนาดให้เลือก คือ Fire HD 6 ซึ่งมีราคาขายที่ยั่วน้ำลายมาก ๆ เพราะเริ่มต้นที่ 99 เหรียญเท่านั้น แถมยังมีให้เลือกถึง 5 สี อีกต่างหาก และอีกขนาดก็คือ Fire HD 7 โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 139 เหรียญ นอกจากนั้นอเมซอนยังจับแท็บเล็ตทั้งสองรุ่นมาแต่งตัวใหม่ ใส่เคสกันกระแทกน่ารัก ๆ แปลงโฉมให้เป็น Fire HD Kids Edition เสียเลย โดยมีทั้งขนาดหน้าจอ 6 นิ้วและ 7 นิ้วให้เลือกแถมด้วย Kindle Freetime apps ให้เด็ก ๆ ได้เล่นกัน 1 ปีเต็ม โดยตั้งราคาขายเริ่มต้นที่ 149 เหรียญ ที่หน้าเว็บอเมซอนยังมีสโลแกนเก๋ ๆ ว่า If they break it, we’ll replace it. No questions asked. เหมือนจะบอกให้ซื้อรุ่นมีเคสไปเลยดีกว่ายังไงยังงั้น เพราะไม่ต้องกลัวว่าเด็ก ๆ จะทำหน้าจอแท็บเล็ตแตกอีกต่อไป อย่างไรก็ตามในแง่การตลาดนั้น Fire HD Kids Edition อาจจะเป็นแท็บเล็ตสำหรับเด็กก็จริง แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในแง่การใช้งานมันเหมาะกับเด็ก ๆ จริงหรือเปล่าเพราะฟีเจอร์หลัก ๆ ก็เหมือนกับรุ่นปกติที่ผู้ใหญ่ใช้อยู่นั่นเอง
วีดีโอโฆษณา http://youtu.be/WA7w3tBOpz0
แท็บเล็ตใหม่ล่าสุด และเป็นแท็บเล็ตจอใหญ่รุ่นท็อปของอเมซอนนับถึงปี 2014 คือ Fire HDX 2014 ที่มีหน้าจอแท็บเล็ตใหญ่ขนาด 8.9 นิ้ว ซึ่งวางจำหน่ายในวันที่ 20 ตุลาคม 2014 โดยเริ่มต้นราคาที่ 379 เหรียญ
วีดีโอรีวิว Fire HDX 8.9 http://youtu.be/6iRfm6sQId8
ตารางแสดงการเปรียบเทียบสเปคแท็บเล็ต Kindle Fire ทุกรุ่นที่มีวางขายในตลาด
Photo Credit: Amazon
Source: wikipedia.org/Kindle Fire , wikipedia.org/Kindle Fire HD , wikipedia.org/Kindle_Fire_HDX , engadget.com , gigaom.com , developer.amazon.com , arstechnica.com , .engadget.com