ก่อนหน้านี้ Thai Publisher เคยเสนอเรื่อง หนังสือน่าอ่านปี 2014 กันไปแล้ว โดยบทความดังกล่าวจัดอันดับหนังสือจากคำแนะนำของหนอนหนังสือและบรรณาธิการที่เลือกหนังสือที่น่าสนใจมาให้ผู้อ่านได้เลือกอ่านกัน แต่วันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปพบกับ อันดับหนังสือขายดีประจำปี 2014 ซึ่งอ้างอิงจากยอดขายจริงล้วน ๆ จาก ร้านหนังสือออนไลน์ ชั้นนำ 3 แห่ง ได้แก่ iBook Store ของทางแอปเปิ้ล, Google eBook Store ของกูเกิ้ล และ Kindle Book Store ของอเมซอน ซึ่งเป็นร้านขายหนังสือออนไลน์ที่ครองตลาดมากที่สุด(ในอเมริกา) ทั้งนี้ข้อมูลจาก iBook Store และ Google eBook Store จะเป็นสถิติที่กล่าวถึงอีบุ๊คที่ขายดีในปีนี้โดยเฉพาะ ส่วนสถิติของทาง Kindle Book Store นั้นจะเป็นสถิติหนังสือขายดีและอีบุ๊คขายดีตลอดทั้งปีนี้
เว็บไซต์ goodereader.com ได้รายงานว่า ทาง Apple เพิ่งประกาศอันดับสินค้าขายดีประจำปี 2014 ไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยอีบุ๊คขายดี 10 อันดับที่วางจำหน่ายทางแอพลิเคชั่น iBook Store ได้แก่
ทางด้าน Google นั้นในช่วงปลายปีมักจะมีสถิติที่น่าสนใจหลาย ๆ อย่างที่บอกว่าผู้ใช้งานอินเตอร์เนตให้ความสนใจในข่าวสารเรื่องใดกันบ้าง โดยปีนี้ก็เพิ่งเปิดเผยสถิติ ‘จัดอันดับคำค้นหายอดนิยมของประเทศไทยประจำปี 2014’ (อ่านเพิ่มเติม: petmaya.com) ไปแล้วด้วย สำหรับสถิติด้านการ ขายหนังสือออนไลน์ ภายในร้าน Google eBook Store นั้นทางกูเกิ้ลก็ได้ประมวลข้อมูลจาก Google Play Internal Data และจัดทำเป็นอินโฟร์กราฟฟิคที่ชื่อว่า 2014: The Year in Entertainment ซึ่งจะแสดงสถิติการดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น, เพลง, เกมส์, หนัง และหนังสือที่ขายดีที่สุดประจำปีผ่านทาง Google Play Store โดย 5 อันดับอีบุ๊คขายดี มีดังนี้
ทางร้านหนังสือออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอนเองก็มีจัดอันดับหนังสือขายดีไว้ทุกปีเช่นเดียวกัน โดยบทความนี้จะอ้างจากหนังสือขายดีตลอดปีนี้ที่นับจนถึงปัจจุบัน ถ้าใครสนใจอันดับหนังสือขายดีเพิ่มเติมสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่ (อันดับอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อสิ้นสุดปี)
นอกจากหนังสือเล่มแล้ว อเมซอนยังจัดอันดับอีบุ๊คขายดีไว้ด้วย โดยได้จัดอันดับไว้ตั้งแต่ปี 2007 ทั้งนี้อเมซอนเป็นเว็บขายหนังสือเว็บแรกที่สามารถขายอีบุ๊คได้มากกว่าหนังสือเล่มตั้งแต่ปี 2011 (อ่านเพิ่มเติม: ตลาดอีบุ๊คกับแนวโน้มที่โตขึ้นทุกวัน) โดยผู้อ่านสามารถค้นหาหนังสือออนไลน์และซื้อหนังสือออนไลน์จากอเมซอนได้สะดวกมากกว่าร้านขายหนังสืออื่น ๆ นั่นเอง บทความนี้แสดง 10 อันดับอีบุ๊คขายดีตลอดปี 2014 นับจนถึงปัจจุบัน ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ ที่นี่ (อันดับอาจมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อสิ้นสุดปี)
สำหรับหนังสือขายดีปี 2014 ที่ทางอเมซอนได้แสดงไว้ ที่นี่ จะนับยอดขายหนังสือเล่มและอีบุ๊ครวมกันเฉพาะหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2014 นี้เท่านั้น ซึ่ง Sara Nelson ผู้อำนวยการฝ่ายหนังสือและคินเดิ้ลกล่าวว่า ในบรรดาหนังสือขายดีเหล่านี้ มีมากกว่าครึ่งที่เป็นภาคต่อในหนังสือชุด (Series)
สำหรับคนที่เห็นรายชื่อหนังสือแล้วชักสนใจ แต่อยากอ่านฉบับแปลมากกว่า Thai Publisher ก็ได้รวบรวมหนังสือแปลขายดีเอาไว้ในที่นี่ด้วยเลย โดยที่หนังสือเหล่านี้อ้างอิงจากร้านขายหนังสือออนไลน์ 3 แห่งข้างต้น คือ iBook, Google Book และ Kindle Book แล้วเทียบกับหนังสือแปลที่มีวางขายในร้านหนังสือไทยแทน เนื่องจากเราไม่มีสถิติจากร้านขายหนังสือของไทยโดยตรง หนังสือแปลไทยที่จะแสดงต่อไปนี้จึงไม่ได้เรียงตามอันดับหนังสือขายดีในบ้านเราแต่อย่างใด
Source: goodereader.com , goodereader.com , amazon
การทำหนังสือขายเอง หรือที่เรียกกันว่า Self Publishing นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะถ้าหากคุณมีเงินทุนแล้วเกิดอยากเขียนหนังสือไปวางขายก็ย่อมทำได้ แต่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผลิตหนังสือเองเพื่อวางจำหน่ายนั้นไม่ค่อยมีคนทำกันมากนัก ก็เพราะว่ามีโอกาสที่จะขาดทุนมากกว่าทำกำไร แต่หลังจากที่ตลาดอีบุ๊คเริ่มเติบโตมากขึ้นในต่างประเทศรวมถึงในไทยเราเองด้วย แนวคิดเรื่องการทำหนังสือขายเองนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ ‘จัดว่าเสี่ยง’ อีกต่อไป เพราะการทำอีบุ๊คนั้นทำได้ง่าย ลงทุนต่ำ และไม่ต้องอาศัยสำนักพิมพ์ก็สามารถผลิตหนังสือออกวางขายได้เอง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่อเมริกาได้มีการจัดงาน Self-Publishing Book Expo 2014 ขึ้น และในงานนี้ผู้จัดจำหน่ายอีบุ๊ครายใหญ่เจ้าหนึ่งในอเมริกาได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตหนังสือด้วยตัวเอง ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าคิดที่เดียว สำหรับใครที่อยากทำหนังสือขายเอง
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ Roosevelt Hotel ในนิวยอร์ค Mark Coker (มาร์ค โคเกอร์) ผู้ก่อตั้ง Smashwords ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มในการผลิตหนังสือขายเอง ซึ่งเขาได้พรีเซนต์ในหัวข้อ 10 Trends and Events Shaping the Future of Publishing ซึ่งสรุปได้ดังนี้
โคเกอร์กล่าวว่า เมื่อเขาเริ่มก่อตั้ง Smashwords ขึ้นมาในปี 2007 นั้น ตลาดอีบุ๊คยังมีส่วนแบ่งอยู่เพียงราว ๆ 1 เปอร์เซนต์ของมูลค่าตลาดหนังสือทั้งหมด และการที่ตลาดอีบุ๊คเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงปีหลังนั้น (อ่านเพิ่มเติม: ตลาดอีบุ๊ค กับแนวโน้มที่โตขึ้นทุกวัน) โคเกอร์ได้ยกเครดิตให้กับร้านขายหนังสือออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอน โดยโคเกอร์กล่าวว่า “ปัจจุบันตลาดอีบุ๊คมีส่วนแบ่งสูงถึง 35 % (ในอเมริกา) จากตลาดหนังสือทั้งหมด และในหนังสือบางประเภท (อย่างเช่นกลุ่มนิยาย) อีบุ๊คก็มีส่วนแบ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากขึ้นไปอีก แต่ว่าสัญญาณดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่า ตลาดหนังสือเล่มจะใกล้ถึงจุดจบแล้วแต่อย่างใด เนื่องจากอัตราการเติบโตของอีบุ๊คยังนับว่าค่อนข้างต่ำอยู่”
โคเกอร์กล่าวว่าการที่นักเขียนจะหันมาผลิตหนังสือเองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว “ปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำหนังสือเอง (Tools) ได้ฟรี ๆ รวมไปถึงความรู้ต่าง ๆ ในการผลิตหนังสือเพื่อขายเองก็สามารถหาอ่านได้ฟรีอีกด้วย ดังนั้นนักเขียนจึงเริ่มต้นผลิตงานเขียนของตัวเองเพื่อทำการขายได้ง่ายขึ้น”
นักเขียนในกลุ่ม Indie Writer ซึ่งไม่เคยมีชื่อเสียงมาก่อนจำนวนมากต่อมากที่ได้ผลิตหนังสือขายเอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตอีบุ๊คขายเอง) สามารถทำยอดขายได้สูงเทียบเคียงกับนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาก่อนได้เช่นกัน เมื่อมองจากการจัดอันดับหนังสือขายดีที่ได้รับการยอมรับอย่างเช่น New York Times’ Best Seller List หรือ USA Today’s Best Seller List ก็จะเห็นรายชื่อนักเขียนอิสระไร้สังกัดสามารถพาหนังสือของตัวเองให้ติดอันดับหนังสือขายดีได้ ทั้งนี้โคเกอร์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ภายในปี 2020, 50 เปอร์เซนต์ของตลาดอีบุ๊ค จะถูกครองตลาดโดยนักเขียนอินดี้”
“หกปีก่อนหน้านี้ ถ้าหากนักเขียนคนไหนผลิตหนังสือออกมาขายเอง มักจะถูกมองว่าเป็นหนังสือคุณภาพต่ำและถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ แต่ในปัจจุบันนักเขียนอิสระเริ่มตระหนักแล้วว่าจริง ๆ หนังสือของเขาอาจจะดีพอ ๆ กับหนังสือจากสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ หรืออาจจะดีกว่าก็เป็นได้เช่นกัน” โคเกอร์กล่าวต่อว่า การผลิตหนังสือโดยผ่านขั้นตอนของสำนักพิมพ์นั้น ทำให้อีบุ๊คมีราคาแพง การทำงานค่อนข้างช้าเพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน และตัวนักเขียนเองก็ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงในการผลิตหนังสือของตัวเองอย่างเต็มที่
โคเกอร์ได้ยกกรณีตัวอย่าง เมื่อสำนักพิมพ์ Pearson Penguin ได้เข้าซื้อบริษัท Author Solutions ซึ่งเป็นบริษัทที่ช่วยให้นักเขียนอิสระได้มีผลงานตีพิมพ์ โดยที่ได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากนักเขียนอิสระเหล่านั้นด้วย เขาให้ความเห็นว่า “การที่สำนักพิมพ์ได้เงินส่วนแบ่งมาจากนักเขียนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ควรเป็นก็คือ รายได้ที่มาจากการขายหนังสือนั้นควรจะส่งมอบไปที่สำนักพิมพ์และส่งไปที่นักเขียนด้วยเสียมากกว่า”
นอกจากการซื้ออีบุ๊คมาอ่านแล้ว บริการให้อ่านอีบุ๊คแบบเสียค่าสมาชิกรายเดือนก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก บริการจาก Oyster และ Scribd (อ่านเพิ่มเติม: Scribd เพิ่มบริการ Audiobook) คือสองช่องทางในการอ่านอีบุ๊คที่เติบโตเร็วมาก เมื่อดูจากการจัดจำหน่ายอีบุ๊คผ่านทาง Smashwords
ร้านขายหนังสือออนไลน์อันดับหนึ่งอย่าง Amazon กับสำนักพิมพ์ชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งอย่าง Hachette ได้มีข้อขัดแย้งกันอย่างหนัก เนื่องจากอเมซอนต้องการขายอีบุ๊คในราคาต่ำ แต่ Hachette ซึ่งถือลิขสิทธิ์อีบุ๊คชื่อดังไว้ในสังกัดของตัวเอง ไม่เห็นด้วยกับกลยุทธ์แบบนี้และต้องการตั้งราคาอีบุ๊คได้เองตามใจชอบ ความขัดแย้งดังกล่าวเพิ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อไม่นานมานี้ (อ่านเพิ่มเติม: Amazon and Hachette Resolve Dispute) โดยที่ Hachette ได้ชัยชนะและสามารถตั้งราคาได้ตามใจชอบ
ในกรณีนี้โคเกอร์ให้ความเห็นว่า “มองเผิน ๆ เหมือนว่า Hachette จะได้รับชัยชนะ แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้เราได้มองเห็นด้านที่ไม่ค่อยสวยของวงการหนังสือกันแล้ว” แม้จะไม่สามารถบีบราคาอีบุ๊คในเครือของ Hachette ให้ต่ำลงมาได้ แต่อเมซอนก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะโปรโมทหนังสือตามที่อเมซอนเห็นสมควรอยู่ดี และแน่นอนว่าอเมซอนย่อมจะมองไปที่อีบุ๊คที่ผลิตมาเพื่อจำหน่ายในร้าน Kindle eBook Store ก่อนเป็นอันดับแรก ๆ
เมื่อปีที่แล้ว, Smashwords มีรายได้จากการขายอีบุ๊คจากตลาดนอกอเมริกา (Non US Market) ถึง 45 เปอร์เซนต์ โดยนับเฉพาะอีบุ๊คที่วางขายผ่านทาง iBooks Application ของทางแอปเปิ้ล
ในเมื่อการทำหนังสือขายเองนั้นเป็นเรื่องง่าย ใคร ๆ ก็เขียนหนังสือขายได้ จึงเกิดหนังสือคุณภาพต่ำขึ้นมากมาย ในประเด็นนี้ โคเกอร์กล่าวว่า “ผู้อ่านจะเป็นผู้เลือก และด้วยเหตุนี้เราจึงได้อ่านหนังสือดี ๆ มากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สำหรับหนังสือที่ไม่มีคุณภาพนั้น นักอ่านก็จะไม่ให้ความสนใจไปเอง”
“คุณสมบัติอย่างหนึ่งของอีบุ๊คก็คือ เมื่อมันเป็นหนังสืออิเล็คทรอนิคส์ มันย่อมจะมีอยู่ในชั้นหนังสือของนักอ่านตลอดไป ดังนั้นในแง่การแข่งขันก็ย่อมเป็นเรื่องยากและจะต้องมีการแข่งขันกันสูงขึ้นทุก ๆ ปี” ถึงแม้การแข่งขันจะเข้มข้นขึ้น แต่โคเกอร์ก็ยังเห็นว่าการเขียนหนังสือขายเองก็ยังทำได้ง่ายกว่าการที่ต้องพึ่งพิงสำนักพิมพ์อยู่ดี โดยเขากล่าวทิ้งท้ายว่า “อุปสรรคทั้งหลายไม่ใช่ตัวที่จะบอกให้เราหยุด แต่เป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นต่างหาก เพราะยังมีนักอ่านอีกนับล้านที่รอคอยจะอ่านหนังสือดี ๆ จากคุณอยู่ และไม่มีเวลาไหนจะดีไปกว่านี้อีกแล้วถ้าคุณจะลุกขึ้นมาทำหนังสือขายเอง”
Photo: Drew Coffman , zeitfaenger.at
Source: darcsidetales.com , teleread.com , selfpubbookexpo.com , publishersweekly.com
รายงานจาก Strategy Analytics ทำนายมูลค่าตลาดผู้บริโภคหนังสืออีบุ๊คว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากปี 2013 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญ เมื่อถึงปี 2020 ตลาดส่วนนี้จะมีมูลค่าถึงราว 16,700 ล้านเหรียญ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ตลาดอีบุ๊ค ในภาพรวมขยายตัวขึ้นมากก็เนื่องมาจาก การให้บริการอ่านอีบุ๊คแบบเสียค่าสมาชิกรายเดือน (Membership Subscription) ที่ได้รับการตอบรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบริการ Kindle Unlimited ของทางอเมซอนหรือของผู้ขายอีบุ๊ครายอื่น ๆ ก็ตาม (อ่านเพิ่มเติม: Scribd เพิ่มบริการ Audiobook ) Wei Shi นักวิเคราะห์จาก Strategy Analytics กล่าวว่า ‘เราคาดว่าการให้บริการอ่านอีบุ๊คแบบเป็นสมาชิกนั้น จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้’
นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ผลักดันให้ ตลาดอีบุ๊ค มีขนาดใหญ่ขึ้นก็คือ ตลาดในจีนเองที่มีผู้ให้บริการและมีผู้อ่านมากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้ามองในภาพรวมของตลาดหนังสือทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันตลาดอีบุ๊คได้ส่วนแบ่งไปเพียง 10% ของตลาดหนังสือทั้งหมด (ข้อมูลจากปี 2013) แต่แนวโน้มนั้นคาดว่าในปี 2020 อีบุ๊คจะขยายส่วนแบ่งไปได้ถึง 25 % ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก็เนื่องมาจากคนเริ่มหันไปอ่านหนังสือจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอีรีดเดอร์กันมากขึ้นนั่นเอง
บริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นแนวหน้าอย่าง PricewaterhouseCoopers (ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์) หรือ PwC ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนอังกฤษออกมาว่า ชาวเมืองผู้ดีนิยมอ่านอีบุ๊คมากกว่าจะซื้อนิยายเล่มมาอ่าน ด้วยเหตุนี้จึงคาดการณ์ว่าภายในปี 2018 มูลค่าตลาดอีบุ๊คจะมีมูลค่ามากขึ้นถึงสามเท่าโดยเพิ่มจาก 380 ล้านปอนด์ เป็น 1,000 ล้านปอนด์ และตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ยอดขายอีบุ๊คแซงหนังสือเล่มไปได้ในที่สุด โดยตลาดหนังสือเล่มจะลดมูลค่าเหลือที่ 912 ล้านปอนด์ ทั้งนี้การวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ได้นับรวมหนังสือจำพวก Text Book และหนังสืออ่านประเภท Professional Reading เข้าไปด้วย ส่วนมูลค่าโดยรวมของตลาดจะเพิ่มจาก 1,800 ล้านปอนด์ เป็น 1,900 ล้านปอนด์
Nigel Newton (ไนเจล นิวตัน) ผู้บริหารสำนักพิมพ์ Bloomsbury ผู้จัดพิมพ์หนังสือยอดนิยมอย่าง Harry Potter กล่าวว่า ‘พวกเราอยู่ในยุคทองของการอ่าน เวลานี้เราต่างใช้อุปกรณ์สื่อสารและบัตรเครดิตเพื่อซื้อหนังสือได้สะดวกตลอด 24 ชั่วโมง และทั้งสัปดาห์ ดังนั้นตลาดหนังสือจึงเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิม เพราะการเข้าถึงลูกค้าไม่ได้จำกัดอยู่ที่ร้านขายหนังสือเพียงอย่างเดียว การเติบโตของตลาดหนังสืออีบุ๊คจึงเป็นสิ่งที่นักเขียนและสำนักพิมพ์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้’
ปีที่ผ่านมาหนังสือขายดีของ Bloomsbury ก็คือนิยายเรื่อง And the Mountains Echoed ของ Khaled Hosseini ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหนังสือเล่ม แต่ก็มียอดขายจากอีบุ๊คไปไม่น้อยเช่นกัน นิวตันให้ความเห็นเพิ่มว่า ‘พฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้ออีบุ๊คนั้น มักจะอยากได้หนังสือมาอ่านอย่างรวดเร็วทันใจ และก็ยังชอบซื้อหนังสือในลักษณะพรีออเดอร์อีกด้วย คือสั่งจองและจ่ายเงินก่อนที่หนังสือจะวางแผง และยอดขายอีบุ๊คจะสูงมากในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก’
สำหรับการคาดการณ์ดังกล่าว บล็อคเกอร์ Nate Hoffelder แห่งเว็บไซต์ the-digital-reader.com ให้ความเห็นว่า PwC เคยวิเคราะห์ตลาดอีบุ๊คในสหรัฐพลาดมาแล้วถึงสองครั้ง ดังนั้นเขาจึงไม่คิดว่าการคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปได้ โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่าตลาดอีบุ๊คในอังกฤษจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะไม่โตเท่าที่ PwC ได้คาดการณ์เอาไว้ ทั้งนี้เขาออกตัวว่าเขาอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับตลาดอีบุ๊คในอังกฤษมากนัก แต่จากปัจจุบันส่วนแบ่งอีบุ๊คในอังกฤษยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าตลาดอีบุ๊คในอเมริกาค่อนข้างมาก
Photo: MIKI Yoshihito , Garrett
Source: theguardian.com , the-digital-reader.com , bbc.com , goodereader.com
อ่านพาดหัวแล้วอาจจะดูรุนแรงไปสักหน่อย แต่สำหรับเกมส์แมวจับหนูระหว่างสำนักพิมพ์กับบรรดานักโหลดของฟรีทั้งหลายคงเป็นการต่อสู้ที่ไม่วันจบสิ้น ล่าสุดสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง HarperColllins ได้หาวิธีใหม่เพื่อลดการโหลดอีบุ๊คแบบละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการใช้เทคโนโลยี ลายน้ำดิจิตอล ฝังลงในหนังสืออิเล็คทรอนิกส์เพื่อสืบหาต้นตอว่าอีบุ๊คที่วางจำหน่ายได้รั่วไหลไปยังสถานที่ที่(สำนักพิมพ์) ไม่ปรารถนาที่ใดบ้าง
ผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ดิจิตอลของสำนักพิมพ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีร้านค้าปลีกแบบ E-Tailers ได้จัดจำหน่ายหนังสือของสำนักพิมพ์ไปทั่วโลกและล่าสุดทาง HarperColllins ยังได้มีข้อตกลงให้ทาง JD.com ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอีบุ๊คในประเทศจีนอีกด้วย ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดโอกาสที่หนังสือจะหลุดออกไปในเวลาและสถานที่อันไม่สมควรได้ ถ้าหากมีการตรวจพบว่ามีหนังสือถูกอัพโหลดอย่างผิด ๆ ทาง HarperColllins จะรู้ทันทีว่าหนังสือหลุดมาจากร้านค้าปลีกร้านไหน หลังจากนั้นทางร้านค้าจะถูกเตือนให้เพิ่มระบบความปลอดภัยหรือไม่ก็ถูกยกเลิกการเป็นคู่ค้าไปเลย
นอกจาก HarperColllins แล้วผู้จัดจำหน่ายอีบุ๊คอย่าง LibreDigital ก็ตกลงใช้เทคโนโลยีดังกล่าวด้วยเหมือนกัน และบริษัทที่ให้บริการก็ได้แก่ Digimarc ที่ใช้ชื่อเทคโนโลยีดังกล่าวว่า Digimarc® Guardian Watermarking
สำหรับการฝังลายน้ำดิจิตอลนั้น สามารถทำกับอีบุ๊คได้หลายฟอร์แมททั้ง PDF, ePub และ Mobi และแม้ว่าระบบดังกล่าวจะสามารถตรวจจับได้ว่าใครคือผู้ที่ดาวน์โหลดอีบุ๊คเถื่อนไปก็ตาม ทาง Digimarc ก็กล่าวว่าบริษัทจะไม่เก็บข้อมูลของผู้ใช้แต่จะเก็บข้อมูลเป็นแบบผู้ใช้นิรนามแทน (Anonymous Digital IDs)
เทคโนโลยีลายน้ำดิจิตอล (Digital Watermark) เป็นคนละอย่างกันกับการเข้ารหัสหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ที่เรียกกันว่า DRM (Digital Rights Management) โดยที่ DRM จะเข้ารหัสหนังสือไว้เพื่อไม่ให้มีการดาวน์โหลดและอัพโหลดหนังสือ แต่ลายน้ำดิจิตอลเป็นเทคโนโลยีที่ผู้ใช้ไม่รู้สึกถึงการมีตัวตนอยู่ (Invisible) โดยมีจุดประสงค์เพื่อสะกดรอยไปหาที่ต้นตอของผู้ที่แอพอัพโหลดหนังสือไว้ เมื่อทำการตรวจสอบว่ามีการอัพโหลดดาวน์โหลดแบบละเมิดอย่างแน่นอนแล้ว จะทำการแจ้งไปยัง Search Engine (อย่างเช่น Google) เพื่อให้ปลดเว็บไซต์เหล่านั้นออกจากการค้นหา ส่วนผู้ที่อัพโหลดดาวน์โหลดอาจจะมีการดำเนินกฎหมายต่อไปอีกหรือไม่ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด
ผู้อ่าน คนที่ซื้ออีบุ๊คอย่างถูกต้องสามารถดาวน์โหลดอัพโหลดอีบุ๊คไปอ่านในเครื่องอีรีดเดอร์หรือแท็บเล็ตที่ได้ลงทะเบียนไว้ การอ่านอีบุ๊คจะไม่ถูกจำกัดอยู่ใน App ที่ตัวเองซื้อเท่านั้น ในปัจจุบันข้อจำกัดที่น่าหงุดหงิดใจสำหรับคนอ่านอีบุ๊คก็คือเมื่อซื้อมาแล้วกลับอ่านได้แต่ใน App หรือ Ecosystem บางตัว เท่านั้น ทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของหนังสือที่แท้จริง
นักเขียน การลดการดาวน์โหลดอย่างผิด ๆ ลง ก็เป็นโอกาสที่จะขายได้มากขึ้น
สำนักพิมพ์ รวมไปถึงผู้ดูแลลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงในยุคที่ mp3 ระบาดในยุคแรก ๆ ส่งผลกระทบรุนแรงจนทำให้บริษัทเพลงหลายแห่งบาดเจ็บสาหัส แม้กระทั่งในไทยเราเอง ยอดขายเทปและซีดีของแท้ถึงกับชะงักไปหลายปี จนกระทั่งวงการเพลงเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกครั้ง เมื่อเริ่มมีการจัดการขายเพลงดิจิตอลอย่างมีมาตรฐาน เช่น iTunes และช่องทางอื่น ๆ
Source: gizmodo.com , publishersweekly.com , digimarc.com , digitaltrends.com
หากจะถามบรรดาหนอนหนังสือว่าสถานที่สุดโปรดของพวกเขามีที่ไหนบ้าง เชื่อขนมกินได้เลยว่า ห้องสมุด จะต้องเป็นหนึ่งในลิสต์อยู่ด้วยเป็นแน่ และถ้าถามต่อไปอีกว่าทำไมถึงชอบเข้าห้องสมุดกันนัก เราก็อาจจะได้คำตอบต่าง ๆ กันไปเช่น ชอบบรรยากาศที่เงียบสงบจะได้มีสมาธิในการอ่านหนังสือ บางคนก็ชอบที่มีหนังสือให้อ่านฟรีมากมายประหยัดตังค์แถมยังเย็นสบายอีกต่างหาก บางคนอาจจะแวะมาหลับเอาแรงหรือไม่ก็ได้เหล่สาวเป็นของแถมไปในตัว บางคนก็อัพเลเวลไปถึงขั้นที่ว่าชอบเข้าห้องสมุดเพราะชอบกลิ่นหนังสือ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือชอบเข้าไปอ่านหนังสือนั่นเอง แต่มันจะเป็นอย่างไรถ้าวันหนึ่งเกิดไม่มีหนังสือในห้องสมุดเลยแม้แต่เล่มเดียว ? คำถามนี้ไม่ได้เป็นแค่ความคิดเล่น ๆ อีกต่อไปแล้ว เมื่อห้องสมุดไร้หนังสือหรือ Bookless Library ได้มีขึ้นแล้วจริง ๆ เราลองไปดูกันว่าผู้ใช้งานห้องสมุดจะทำอะไรได้บ้างกับห้องสมุดที่ไม่มีหนังสือจริง ๆ ให้ได้อ่านเลยสักเล่ม
BiblioTech เป็นห้องสมุดชุมชนในซานติเอโก สหรัฐอเมริกา โดยได้เปิดให้บริการเมื่อปลายปี 2013 ที่ผ่านมา สำหรับการตกแต่งห้องสมุดดังกล่าวอาจจะไม่ใช่ห้องสมุดที่สวยที่สุดในโลกแต่ที่แน่ ๆ ที่นี่คือห้องสมุดสุดไฮเทคแห่งหนึ่ง มองดูเผิน ๆ บรรยากาศออกจะไปทางร้านอินเตอร์เนตคาเฟ่เสียมากกว่าเพราะภายในเรียงรายไปด้วยคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะสุดเท่ห์จาก Apple แต่อาจจะแตกต่างกันบ้างก็ตรงที่บรรยากาศเงียบสงบที่บอกถึงความเป็นห้องสมุดอยู่นั่นเอง ขึ้นชื่อว่าห้องสมุดแล้วก็แน่นอนว่าผู้เข้าใช้งานย่อมจะได้ใช้บริการต่าง ๆ ตามปกติ เช่น อ่านหนังสือนิยายในรูปแบบอีบุ๊คภายในห้องสมุดเอง หรือไม่ก็ยืมอีบุ๊คไปอ่านได้เป็นเวลาสองสัปดาห์โดยการโหลดหนังสือเข้าอีรีดเดอร์หรือแท็บเล็ตของตนเอง ยิ่งกว่านั้นถ้าหากใครจะยืมตัวเครื่องอีรีดเดอร์ไปด้วยทางห้องสมุดเขาก็มีให้ยืมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีห้อง Study Room เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาได้ใช้บริการอีกด้วย
การที่มีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบดังกล่าวจะทำให้ความหมายของห้องสมุดเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและมันจะไปลดบทบาทหนังสือเล่มลงหรือเปล่า สำหรับประเด็นนี้ ผู้พิพากษา Nelson Wolff (เนลสัน วูลฟ์) ซึ่งเป็นผู้ที่ริเริ่มโครงการนี้ได้กล่าวว่า “เราต่างรู้ดีว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ผมเองก็อ่านหนังสือเล่มและก็ยังรักหนังสือเล่มอยู่ ผมว่ามันน่าจะเป็นเรื่องดีมากกว่าที่เราได้นำเทคโนโลยีมาให้บริการแก่ชุมชนของเรา” เว็บไซต์ BiblioTech กล่าวว่า เนลสันได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือยอดนิยมเกี่ยวกับชีวประวัติของ Steve Jobs ซึ่งเขียนโดย Walter Isaacson โดยเขาคิดจะสร้างห้องสมุดดิจิตัลขึ้นมา และภายในเวลาไม่ถึงปีห้องสมุดดิจิตอลก็ถือกำเนิดขึ้น โดยที่วันแรกที่เปิดทำการก็มีสมาชิกมากกว่า 1,000 คน
ข้อดีของห้องสมุดดิจิตอลก็คือจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ โดยใช้พื้นที่น้อยลงรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้วย “เราจะหันไปให้ความสนใจกับสมาชิกของเราและเข้าถึงชุมชนให้มากขึ้น และไม่ต้องไปจัดการด้านการบริหารหนังสือเล่มอีกต่อไป” Ashley Eklof (แอชลีย์ เอคล๊อฟ) หัวหน้าบรรณารักษ์กล่าวเสริม
มหาวิทยาลัยเปิดใหม่อย่าง Florida Polytechnic University เป็นอีกแห่งที่ให้บริการห้องสมุดดิจิตัลเต็มตัว โดยที่นี่มีหนังสือในคลังอยู่ราว 135,000 เรื่อง และไม่มีหนังสือจริงแต่อย่างใด แต่ก็ยังมีระบบที่เข้าถึงคลังหนังสือจริงได้จากระบบของ State University System’s Interlibrary Loan Program แต่ทางมหาวิทยาลัยกล่าวว่า ต้องการให้นักศึกษาใช้บริการในรูปแบบดิจิตอลมากกว่า โดย Kathryn Miller ผู้อำนวยการห้องสมุดกล่าวว่า “ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการอ่าน การค้นคว้าและการจัดการเอกสารดิจิตอลเป็นเรื่องสำคัญมาก ห้องสมุดของเราได้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีความคุ้นเคยต่อการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้”
แม้จะไม่ใช้ห้องสมุดไร้หนังสือแห่งแรก แต่ห้องสมุดของ Florida Polytechnic University ก็สะท้อนถึงความเป็นห้องสมุดยุคใหม่ด้วยดีไซต์การออกแบบอันสวยงามล้ำสมัย โดยที่อาคารด้านนอกเป็นรูปโดมสีขาวและบริเวณภายในจัดสัดส่วนการใช้งานไว้อย่างสวยงามด้วยฝีมือการของแบบของสถาปนิกชาวสเปนชื่อ Santiago Calatrava (ชมภาพห้องสมุด ได้ที่สไลด์ด้านล่าง)
[metaslider id=993]
การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ใช่ว่าใคร ๆ จะเห็นดีเห็นงามไปเสียหมด อย่างเช่นพาดหัวข่าวจาก Tampa Bay Times ถึงกับกล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องน่าเศร้าเลยทีเดียว บทความดังกล่าวได้ถอดคำพูดของ Kathleen McCook (แคธลีน แม็คคุ๊ก) อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ University of South Florida ซึ่งเป็นผู้สอนด้านประวัติศาสตร์หนังสือและวิชาบรรณารักษ์ กล่าวว่าบรรณารักษ์จะช่วยแนะนำหนังสือดี ๆ ให้กับผู้อ่านได้ โดยเธอกล่าวต่อว่า “มันอาจจะเป็นชีวิตยุคใหม่แบบดิจิตอลก็จริง แต่ฉันคิดว่าในระยะยาวมันอาจจะไม่สร้างประสบการณ์ได้เทียบเท่ากับห้องสมุดที่มีหนังสือจริง”
Photo Credit: Florida Polytechnic university facebook
Credit: theguardian.com , bexarbibliotech.org , cbsnews.com , youtu.be/5BoeWQA732U