เวลาเลือกซื้อแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ หลาย ๆ คนจะมองกันที่สเปคเครื่อง ความคุ้มค่าของราคาเทียบกับการใช้งาน หรือบางคนก็อาจเป็นแฟนคลับแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนยี่ห้อที่ตัวเองชื่นชอบ เรียกว่าขอให้ออกมือถือหรือแท็บเล็ตรุ่นใหม่ ๆ มาเถอะเดี๋ยวจะตามไปสอยมาให้ได้ และพอได้มาครอบครองสมใจแล้วอุปกรณ์เสริมสำหรับมือถือและแท็บเล็ตชิ้นแรก ๆ ที่ผู้ใช้งานจะต้องซื้อติดมาด้วยก็คงหนีไม่พ้นซองใส่แท็บเล็ตรุ่นต่าง ๆ อย่างเช่น เคส iPad ลายการ์ตูนที่ตัวเองชอบ หรือถ้าเป็นนักธุรกิจก็อาจจะมองหาเคสแท็บเล็ตที่สวยหรูดูดีมีระดับ การเลือกซื้อที่ใส่แท็บเล็ตเหล่านี้ สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานแต่ละคนเป็นอย่างดี และถ้าหากว่าคุณเป็นนักอ่านที่ใช้งานแท็บเล็ตอยู่ทุกวันล่ะ จะหาเคสแท็บเล็ตแบบไหนดี ถึงจะบอกความเป็นตัวตนของคุณได้โดนสุด ๆ วันนี้ Thai Publisher จึงขอพาผู้อ่านไปพบกับไอเดียการตกแต่งเคสแท็บเล็ตในแบบต่าง ๆ สำหรับคนรักหนังสือกันดูค่ะ
ขึ้นชื่อว่านักอ่านก็ย่อมจะมีหนังสือเล่มโปรดอย่างน้อย ๆ ก็สักเล่มที่คุณรักหรือมีความหมายต่อคุณเป็นพิเศษ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วจับเอาหน้าปกหนังสือหรือตัวละครที่เราชอบหรือ Gimmick อื่น ๆ ในหนังสือมาทำเป็นลายบนเคสซะเลยดีมั๊ย สำหรับตัวอย่างเคสที่นำมาให้ชมกัน ก็ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มดัง ๆ อย่างเช่น Harry Potter iPad Case, Pride and Prejudice Case และ Dr. Seuss’s Tablet Case ซึ่งเคสเหล่านี้จะเป็นงาน Handmade (แฮนด์เมด) ราคาจึงค่อนข้างจะสูงแต่ก็แลกมากับเคสแท็บเล็ตตัวใหม่ สวยมีสไตล์ ไม่ซ้ำกับคนอื่น สิ่งที่ควรนึกถึงอย่างหนึ่งก็คือ เคสเหล่านี้ทำจากมือ เพราะฉะนั้นความทนทานและการนำมาใช้งานได้จริงอาจจะแตกต่างกันไปสำหรับงานแต่ละชิ้น และตลาดขายงานแฮนด์เมดที่คนนิยมไปช้อปปิ้งและมองหาไอเดียแห่งหนึ่งก็คือเว็บ Esty ซึ่งถ้าหากผู้อ่านสนใจก็ลองไปมอง ๆ ดูกันได้ค่ะ
สำหรับผู้ที่ใช้งาน iPad (ไอแพด) คงจะทราบว่าทางแอปเปิ้ลมีบริการสลักข้อความลงบนตัวเครื่องได้ที่เรียกกันว่า iPad Engraving ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ไอแพดของคุณแตกต่างจากคนอื่น ๆ และบ่งบอกความเป็นตัวตนของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี สำหรับไอเดียการแกะสลัก iPad อันหนึ่งที่ดู Cool มาก ๆ ก็คือเปลี่ยนปกหนังสือเรื่อง The Gigiving Tree ให้เป็นภาพสลักบนแท็บเล็ตซะเลย (ชมภาพ: The Giving Tree Book on iPad)
นอกจากเคสแท็บเล็ตที่นำมาให้ชมกันแล้ว ถ้าหากผู้อ่านมองรอบ ๆ ตัวแล้วหันไปเจอโน้ตบุ๊คและโทรศัพท์มือถืออยู่ข้าง ๆ แล้วอยากจะจับอุปกรณ์เหล่านี้มาเปลี่ยนลุคใหม่ให้เข้ากับแท็บเล็ตไปด้วยกันเลย เราก็มีตัวอย่างซองใส่โทรศัพท์และกระเป๋าโน้ตบุ๊คสวย ๆ ที่ทำออกมาเอาใจคนรักหนังสือด้วยเช่นกัน อย่างเช่นเคสหนังสำหรับใส่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ในสไตล์ Book Style จากผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมอย่างเช่นภาพด้านล่าง ซึ่งน่าจะทนทานกว่าสินค้าประเภทแฮนด์เมดอยู่พอสมควร
สำหรับใครที่ดูแล้วชอบใจแต่ยังไม่มีเคสที่โดนใจ และคันไม้คันมืออยากจะทำเคสแท็บเล็ตใช้เองเก๋ ๆ แบบไม่ซ้ำใครก็อาจจะมองหาเว็บสอนวิธีทำเคสแท็บเล็ตเองดูก็ได้ และแอดมินนำ Video Tutorial มาให้ดูกันเป็นแนวทางกันไปพลาง ๆ ก่อน ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ เราจะได้เคสแท็บเล็ตราคาประหยัด และดีไซน์ได้เองตามใจชอบกันไปเลย
DIY iPad Cover http://youtu.be/FgNJood9VHQ
Photo & Source: amazon.com , twelvesouth.com
เริ่มเข้าสู่ช่วงท้ายปีแล้ว คุณผู้อ่านบางท่านอาจกำลังมองหาหนังสือดี ๆ สักเล่มไว้เป็นของฝากให้คนใกล้ตัวในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสหรือเป็นของขวัญปีใหม่ หรือบางคนอาจอยากรู้ว่าตลอดทั้งปีนี้มีหนังสือดี ๆ เล่มไหนที่หลุดรอดสายตาไปบ้าง ก่อนที่จะหมดปีนี้ไป จะได้ไปหาซื้อหนังสือมาอ่านกันแบบที่ไม่ต้องตกขบวนไปเสียก่อน วันนี้ Thai Publisher ได้รวบรวมรายชื่อ หนังสือน่าอ่าน 2014 จากหลายเว็บขายหนังสือและเว็บรีวิวหนังสือหลายแห่งให้ผู้รักการอ่านได้เลือกกันดูเผื่อว่าจะมีสักเล่มที่คุณสนใจก็ได้ค่ะ
เว็บขายหนังสือรายใหญ่อย่างอเมซอนจะมีการจัดอันดับหนังสือน่าอ่านออกมาแนะนำกันเป็นประจำทุกปี และเมื่อไม่นานนี้อเมซอนก็ได้ทำรายชื่อ 2014 Best Books of the Year: The Top 100 in Print Format ออกมาแล้ว ซึ่งทางเว็บไซต์ ebookfriendly.com กล่าวว่า การจัดอันดับหนังสือน่าอ่านของร้านหนังสืออเมซอน จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
สำหรับ 10 อันดับแรกที่จัดเป็น Recommended Reading ประจำปีนี้ได้แก่ ( อ่านรายชื่อหนังสือแนะนำทั้งหมดประจำปี 2014 Best Books of the Year )
สำหรับผู้ที่มองหาหนังสือแนะนำในกลุ่ม How To และ Business Reading ที่เหมาะกับเจ้าของกิจการและนักธุรกิจเพื่อให้ทันต่อแนวคิดในการบริหารนั้น ทาง Huffington Post ก็ได้จัดอันดับเอาไว้จำนวน 12 เล่มด้วยกัน คือ
Photo: Sukanto Debnath , Alexandre Dulaunoy
Source: ebookfriendly.com , huffingtonpost.com
Thai Publisher เพิ่งมีบทความเรื่อง ตลาดอีบุ๊คมีแนวโน้มโตขึ้น ไปหมาด ๆ แต่วันนี้กลับมีข่าวว่าผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ Nokia (โนเกีย) และ Samsung (ซัมซุง) ได้ตัดสินใจเลิกทำแอพลิเคชั่นสำหรับอ่านอีบุ๊คและปิดร้านขายอีบุ๊คออนไลน์ของตัวเองไปเสียแล้ว เรามาดูกันว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แล้วลูกค้าที่ซื้ออีบุ๊คจากทางร้านไปแล้วจะทำอย่างไร หนังสือที่เคยซื้อไว้จะหายไปกับสายลมหรือไม่
โทรศัพท์มือถือโนเกีย นั้นถูกไมโครซอฟท์เข้าซื้อกิจการไปตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว และผู้ใช้งานโนเกียคงจะเห็นว่าไมโครซอฟท์ค่อย ๆ ลดบทบาทโทรศัพท์ยี่ห้อดังกล่าว จนกระทั่งมันถูกปรับใหม่ให้กลายเป็น Microsoft Phone ไปแทน ในชื่อ Lumia นั้นเอง นอกจากการเปลี่ยนชื่อยี่ห้อโทรศัพท์เสียใหม่ เปลี่ยนรูปลักษณ์ใหม่และการพัฒนา Hardware แล้ว ก็แน่นอนว่าบริการต่าง ๆ ที่เคยมีมาจากเดิมของโนเกีย ก็ย่อมได้รับผบกระทบไปด้วย และหนึ่งในบริการที่จะต้องถูกยุบทิ้งไปก็คือ Nokia Reading App ซึ่งเป็นแอพลิเคชันอ่านอีบุ๊คและยังเป็นร้านขายอีบุ๊คให้กับลูกค้าอีกด้วย
เว็บไซต์ mynokiablog.com รายงานว่าลูกค้าโนเกียต่างได้รับอีเมล์แจ้งข่าวว่า Nokia Reading App จะไม่มีให้ใช้บริการได้อีกแล้ว โดยการหยุดบริการจะเป็นผลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2014 เป็นต้นไป จากประกาศดังกล่าวทำให้ผู้ใช้โนเกียสามารถซื้ออีบุ๊คจากแอพของโนเกียได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้เท่านั้น (แต่ใครจะซื้อ?) ส่วนหนังสือที่ซื้อมาแล้วยังอ่านได้อีกต่อไป แต่ถ้าในอนาคตเมื่อมีการอัพเดทระบบ ก็เป็นไปได้มากว่าแอพอ่านหนังสือตัวนี้จะถูกลบออก จึงหมายความว่าหนังสืออีบุคที่เคยซื้อจากร้านของโนเกียย่อมไม่มีให้อ่านอีกต่อไปแล้วนั่นเอง (อ่านอีเมล์จากทางโนเกียได้ที่บล็อค My Nokia Blog) ทางโนเกียเองคงทราบดีว่ามีผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวนไม่น้อยที่อ่านอีบุ๊คจากโทรศัพท์มือถือ ในอีเมล์ดังกล่าว จึงได้แนะนำให้ลูกค้าหันไปใช้แอพอ่านหนังสือตัวอื่น ๆ อย่าง Amazon Kindle หรือ Audible ซึ่งมีอยู่ใน Microsoft Store แทน
ในตลาดสมาร์ทโฟน มือถือ Samsung จัดว่าเป็นโทรศัพท์ที่มีผู้นิยมใช้กันมากที่สุดยี่ห้อหนึ่ง และด้วยความนิยมในตัวโทรศัพท์ซัมซุงนี่เอง ทำให้ทางบริษัทมองเห็นโอกาสในการขาย Digital Content ควบคู่ไปกับการขายสมาร์ทโฟนไปด้วย โดยมีความพยายามในการเจาะตลาดอีบุ๊คตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา แต่ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจปิดร้านขายอีบุ๊คและแอพอ่านอีบุ๊คของตัวเองลงไปแล้ว
http://www.youtube.com/watch?v=Udce9eBb5YM Samsung Readers Hub แอพอ่าน eBOOK จะมีให้ใช้ถึงแค่สิ้นปีนี้
Photo: Samsung , Pedro Ribeiro Simões
Source: zdnet.com , windowscentral , windowscentral , the-digital-reader.com , liveside.net
รายงานจาก Strategy Analytics ทำนายมูลค่าตลาดผู้บริโภคหนังสืออีบุ๊คว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากปี 2013 ที่มีมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญ เมื่อถึงปี 2020 ตลาดส่วนนี้จะมีมูลค่าถึงราว 16,700 ล้านเหรียญ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ตลาดอีบุ๊ค ในภาพรวมขยายตัวขึ้นมากก็เนื่องมาจาก การให้บริการอ่านอีบุ๊คแบบเสียค่าสมาชิกรายเดือน (Membership Subscription) ที่ได้รับการตอบรับจากนักอ่านเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบริการ Kindle Unlimited ของทางอเมซอนหรือของผู้ขายอีบุ๊ครายอื่น ๆ ก็ตาม (อ่านเพิ่มเติม: Scribd เพิ่มบริการ Audiobook ) Wei Shi นักวิเคราะห์จาก Strategy Analytics กล่าวว่า ‘เราคาดว่าการให้บริการอ่านอีบุ๊คแบบเป็นสมาชิกนั้น จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษนี้’
นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่ผลักดันให้ ตลาดอีบุ๊ค มีขนาดใหญ่ขึ้นก็คือ ตลาดในจีนเองที่มีผู้ให้บริการและมีผู้อ่านมากขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้ามองในภาพรวมของตลาดหนังสือทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันตลาดอีบุ๊คได้ส่วนแบ่งไปเพียง 10% ของตลาดหนังสือทั้งหมด (ข้อมูลจากปี 2013) แต่แนวโน้มนั้นคาดว่าในปี 2020 อีบุ๊คจะขยายส่วนแบ่งไปได้ถึง 25 % ซึ่งปัจจัยสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ก็เนื่องมาจากคนเริ่มหันไปอ่านหนังสือจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอีรีดเดอร์กันมากขึ้นนั่นเอง
บริษัทตรวจสอบบัญชีชั้นแนวหน้าอย่าง PricewaterhouseCoopers (ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์) หรือ PwC ได้วิเคราะห์พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนอังกฤษออกมาว่า ชาวเมืองผู้ดีนิยมอ่านอีบุ๊คมากกว่าจะซื้อนิยายเล่มมาอ่าน ด้วยเหตุนี้จึงคาดการณ์ว่าภายในปี 2018 มูลค่าตลาดอีบุ๊คจะมีมูลค่ามากขึ้นถึงสามเท่าโดยเพิ่มจาก 380 ล้านปอนด์ เป็น 1,000 ล้านปอนด์ และตัวเลขดังกล่าวจะทำให้ยอดขายอีบุ๊คแซงหนังสือเล่มไปได้ในที่สุด โดยตลาดหนังสือเล่มจะลดมูลค่าเหลือที่ 912 ล้านปอนด์ ทั้งนี้การวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ได้นับรวมหนังสือจำพวก Text Book และหนังสืออ่านประเภท Professional Reading เข้าไปด้วย ส่วนมูลค่าโดยรวมของตลาดจะเพิ่มจาก 1,800 ล้านปอนด์ เป็น 1,900 ล้านปอนด์
Nigel Newton (ไนเจล นิวตัน) ผู้บริหารสำนักพิมพ์ Bloomsbury ผู้จัดพิมพ์หนังสือยอดนิยมอย่าง Harry Potter กล่าวว่า ‘พวกเราอยู่ในยุคทองของการอ่าน เวลานี้เราต่างใช้อุปกรณ์สื่อสารและบัตรเครดิตเพื่อซื้อหนังสือได้สะดวกตลอด 24 ชั่วโมง และทั้งสัปดาห์ ดังนั้นตลาดหนังสือจึงเปิดกว้างมากขึ้นกว่าเดิม เพราะการเข้าถึงลูกค้าไม่ได้จำกัดอยู่ที่ร้านขายหนังสือเพียงอย่างเดียว การเติบโตของตลาดหนังสืออีบุ๊คจึงเป็นสิ่งที่นักเขียนและสำนักพิมพ์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้’
ปีที่ผ่านมาหนังสือขายดีของ Bloomsbury ก็คือนิยายเรื่อง And the Mountains Echoed ของ Khaled Hosseini ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายหนังสือเล่ม แต่ก็มียอดขายจากอีบุ๊คไปไม่น้อยเช่นกัน นิวตันให้ความเห็นเพิ่มว่า ‘พฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้ออีบุ๊คนั้น มักจะอยากได้หนังสือมาอ่านอย่างรวดเร็วทันใจ และก็ยังชอบซื้อหนังสือในลักษณะพรีออเดอร์อีกด้วย คือสั่งจองและจ่ายเงินก่อนที่หนังสือจะวางแผง และยอดขายอีบุ๊คจะสูงมากในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก’
สำหรับการคาดการณ์ดังกล่าว บล็อคเกอร์ Nate Hoffelder แห่งเว็บไซต์ the-digital-reader.com ให้ความเห็นว่า PwC เคยวิเคราะห์ตลาดอีบุ๊คในสหรัฐพลาดมาแล้วถึงสองครั้ง ดังนั้นเขาจึงไม่คิดว่าการคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นไปได้ โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่าตลาดอีบุ๊คในอังกฤษจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน แต่จะไม่โตเท่าที่ PwC ได้คาดการณ์เอาไว้ ทั้งนี้เขาออกตัวว่าเขาอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับตลาดอีบุ๊คในอังกฤษมากนัก แต่จากปัจจุบันส่วนแบ่งอีบุ๊คในอังกฤษยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าตลาดอีบุ๊คในอเมริกาค่อนข้างมาก
Photo: MIKI Yoshihito , Garrett
Source: theguardian.com , the-digital-reader.com , bbc.com , goodereader.com
จำได้ไหมว่าคุณใช้งานเจ้า ตู้โทรศัพท์สาธารณะ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? ขอถามใหม่อีกครั้งว่าคุณมองเห็นเจ้าตู้เหล่านี้อย่างไร ? เป็นวัตถุล้าหลังที่เสนอหน้าทุกมุมถนน เป็นที่นอนของน้องหมาอย่างไม่เป็นทางการ เป็นที่ให้คนมาพ่นสีและพังกระจกเล่น ๆ เป็นที่สุดท้ายที่จะยอมใช้โทรศัพท์เวลาแบตหมดหรือจำเป็นจริง ๆหรือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ไร้ประโยชน์รอวันผุกร่อน รอให้หมดสัญญาสัมปทาน หรือรอให้ใครสักคนมารื้อทิ้งไปเสียทีเพราะเกะกะเปลืองที่เหลือเกิน มีใครเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่าเจ้าตู้เหล่านี้แม้จะมีพื้นที่เพียงเล็กน้อยแต่ถ้านับรวมกันทั่วประเทศเข้าแล้วจะมีกี่ตู้และมีพื้นที่ใช้สอยมากมายแค่ไหน โปรดอย่าถามเราเพราะเราก็ไม่รู้เช่นเดียวกัน แต่มองจากสายตาทั่ว ๆ ไปแล้ว มันย่อมเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่อย่างแน่นอน ถ้าหากเราจะเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าเหล่านี้มาทำเป็นห้องสมุดสาธารณะขนาดกะทัดรัดดูบ้างล่ะ จะเข้าท่าดีไหม?
เป็นที่รู้กันดีว่าห้องสมุดในประเทศไทยนั้นมีให้บริการอยู่ไม่มากมายนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลนั้นหลายคนต้องทำใจว่าไม่มีโอกาสได้ใช้บริการห้องสมุดดี ๆ กับใครเขา แต่ทราบหรือไม่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษก็มีบางพื้นที่ ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงห้องสมุดสาธารณะเหมือนกัน เมื่อปี 2009 หลังจากที่ชาวบ้านในแถบ Westbury-sub-Mendip ได้ทราบข่าวว่าพวกเขาจะไม่มีโอกาสได้ใช้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่ซะแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ได้เกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อหาทางให้ชุมชนได้มีห้องสมุดใช้งาน และชาวบ้านหัวใสก็ได้ไอเดียจับเอาตู้โทรศัพท์สาธารณะที่เรียกกันว่าตู้แดง มาแปลงโฉมเสียใหม่โดยมีอาสาสมัครเสนอตัวมาปรับปรุงตู้โทรศัพท์เหล่านี้มากกว่า 700 คน เมื่อปรับปรุงจนใช้งานได้แล้วก็ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไปราว 350 ตู้ ห้องสมุดขนาดเล็กที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจก็ได้เปิดใช้งานได้ในที่สุด โดยที่แต่ละตู้บรรจุหนังสือได้ราว 100 เล่ม แถมยังมี DVD และ CD ให้ยืมไปฟังกันได้อีกด้วย แม้ว่าขนาดจะเล็กแต่ห้องสมุดจิ๋วแห่งนี้ก็ขยันเอาเรื่องเพราะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีปิด ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไปต่อแถวซื้อสมาร์ทโฟน ชาวบ้านที่หมู่บ้านแห่งนี้กลับต่อแถวกันเพื่อเข้าไปยังตู้โทรศัพท์รุ่นเก่ากันยาวเหยียด ชมภาพบรรยากาศได้ ที่นี่
นักออกแบบชาวนิวยอร์คนามว่า John Locke คิดอยากจะให้คนอื่น ๆ อ่านหนังสือกันมากขึ้น เขาจึงได้ลงมือแปลงโฉมตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญตามท้องถนนให้กลายเป็นชั้นวางหนังสือ แล้วก็นำหนังสือที่ได้รับบริจาคมาวางให้คนที่ผ่านไปมาได้หยิบกลับไปอ่าน และก็หวังว่าจะนำมาคืนหรือนำเล่มอื่นมาให้คนมาทีหลังได้อ่านต่อด้วย แม้ว่าความคิดของเขามันจะ ‘แนว’ มาก แต่มันอาจจะแปลกไปหน่อยที่อยู่ ๆ ก็มีชั้นหนังสือมาอยู่บนตู้โทรศัพท์ คนที่ผ่านไปมาจึงมองด้วยสายตาลังเลไม่แน่ใจว่ามากกว่าจะเป็นอย่างอื่น แต่ถึงกระนั้นจอห์นก็บอกว่ายังมีคนมีมาหยิบหนังสือไปอ่านอยู่เหมือนกัน นอกจากนี้ชั้นวางหนังสือของเขาในบางจุดที่ติดตั้งยังถูกขโมยหรือไม่ก็โดนทำเสียหายซะอีก อย่างไรก็ตามโครงการนี้ก็ยังไม่ได้ล้มเลิกแต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถเข้าไปดูภาพโครงการของเขาได้ ที่นี่
ทางด้านเยอรมันนีก็มีบริการห้องสมุดสาธารณขนาดเล็กกะทัดรัด มองดูคล้าย ๆ ตู้โทรศัพท์อยู่เหมือนกันโดยมีชื่อว่า Friesland Smallest Library (The Smallest Library) สำหรับภาพนี้ถ่ายที่ Wüppelsergroden (ชมภาพ Friesland smallest library เพิ่ม ที่นี่ ) จะเห็นได้ว่าไอเดียการดัดแปลงตู้หยอดเหรียญโทรศัพท์ให้กลายเป็นห้องสมุดขนาดย่อมนั้นเป็นไปได้จริงอย่างที่เห็นไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม ถ้าหากมีคนมาใช้บริการและมีหนังสือดี ๆ ให้ได้อ่าน ก็น่าจะถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของห้องสมุดแล้ว จริงมั๊ย ?
ถ้าหากใครอ่านแล้วส่ายหัวไม่เห็นด้วยเลย ก็อาจจะมองหาไอเดียอื่น ๆ มาปรับปรุงให้โทรศัพท์สาธารณะในบ้านเราไม่ต้องกลายเป็นพื้นที่ส่วนเกินไปอย่างทุกวันนี้ อย่างเช่น ในอังกฤษที่ถูกปรับให้เป็นที่ชาร์ทโทรศัพท์มือถือ (ตู้โทรศัพท์สาธารณะในอังกฤษ ถูกเปลี่ยนให้เป็นที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือฟรี) หรือเป็นจุดปล่อยสัญญาณ Wifi หรือกระทั่งทำเป็นตู้ปลาไปเสียเลยอย่างในจีนก็ยังได้ (ภาพประกอบ) หรืออาจะทำเป็นตู้โทรศัพท์เติมเงินสำหรับมือถือ แบบที่โทรศัพท์สาธารณะทรูบางแห่งมีบริการแบบนี้อยู่ด้วย ( อ้างอิง: ทรู: เติมเงินผ่านตู้โทรศัพท์) แต่ทั้งนี้คงต้องถามไปที่องค์การโทรศัพท์หรือไม่ก็บริษัทที่ได้รับสัมปทานโทรศัพท์สาธารณะกันเสียก่อนนะ !
Photo: Romeo Golf , JD Handcock , oatsy40
Source: bbc.co.uk , citylab.com