ถ้าหากคุณกำลังนั่งชิว ๆ อยู่ในร้านกาแฟสักแห่งหนึ่ง แล้วเห็นใครสักคนกำลังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่อย่างสบายอารมณ์ ก็คงเดาได้ว่าคน ๆ นั้นคงกำลังเสพข่าวสารหรือความบันเทิงอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหากเกิดไปเห็นโต๊ะข้าง ๆ ที่คนนึงกำลังเพลิดเพลินกับนิตยสาร Billboard Magazine ในขณะที่เพื่อนที่นั่งด้วยกันกลับอ่าน NME Magazine อย่างขะมักเขม้น แม้ว่าจะไม่รู้ไม่เขากำลังอ่านอะไรอยู่ แต่ก็คงจะพอเดารสนิยมและไลฟ์สไตล์ของผู้ที่กำลังอ่านแมกกาซีนฉบับนั้นได้บ้าง ถ้าหากคุณเป็นเจ้าของร้านกาแฟดังกล่าวแล้วอยากจะเอาใจคนอ่าน Billboard Magazine ก็อาจจะเลือกเปิดเพลงของ Taylor Swift หรือ Maroon 5 แต่ถ้าเกิดจะเอาใจคนที่อ่านนิตยสาร NME แล้วก็อาจจะเดายากสักหน่อย เพราะแฟน ๆ นิตยสารฉบับนี้จะมีรสนิยมเฉพาะตัวและไม่ค่อยฟังเพลงตามชาวบ้านเขา แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ อย่าคิดไปเปิดเพลงป็อปตลาด ๆ หรือเพลงฮิตโคตร โคตรฮิตก็แล้วกัน เพราะว่ามันมีโอกาสที่จะ Miss มากกว่า Hit นั่นเอง
สถานการณ์ที่เขียนนี้พอจะบอกได้ว่า การจัดทำนิตยสารนั้นไม่ได้มุ่งแต่จะหาข่าวสารมานำเสนอแต่เพียงอย่างเดียว แต่นิตยสารคือสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผู้อ่านเลือกสิ่งที่ใกล้เคียงกับรสนิยมของตนเอง ทั้งนี้การคัดสรรเนื้อหาอย่างดีนั้นก็เพื่อแลกกับการที่ผู้อ่านยอมควักเงินซื้อนิตยสารมาอ่านในราคาที่ไม่ถูกสักเท่าไหร่นั่นเอง ในยุคที่สื่อดิจิตอลเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น การอ่านนิตยสารก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่หน้ากระดาษอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีแมกกาซีนออนไลน์ รวมไปถึง App อ่านนิตยสารซึ่งมีให้เลือกดาวน์โหลดกันได้ฟรีเกิดขึ้นมากมาย วันนี้ Thai Publisher จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับ App นิตยสารที่ชื่อว่า Magzter ซึ่งมีนิตยสารชั้นนำให้ได้อ่านกันหลากหลายฉบับ
เวลาซื้อดิจิตอลแมกกาซีนหรืออีบุ๊คจากร้านขายหนังสือออนไลน์นั้น เรามักจะได้ยินกับคำว่า E-Book Store Application กับ Newsstand Application มาคู่กันและบางครั้งก็อาจจะสับสนกันได้ ซึ่งถ้าจะให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ Newsstand นั้นเปรียบเหมือนแผงหนังสือที่อาจจะตั้งขายอยู่เดี่ยว ๆ ตามทางเท้าหรือบริเวณที่จัดให้ขายเป็นสัดส่วน หรืออาจจะเป็นแผงที่ยื่นออกมาจากร้านหนังสือทั่ว ๆ ก็ได้ หลัก ๆ ก็คือ Newsstand นั้นจะขายหนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นหลักและมีหนังสือเล่มบ้างเล็กน้อย ในขณะที่ E-Book Store หรือ Book Store นั้นจะขายเป็นหนังสือเล่มเป็นหลัก และก็มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งซึ่งมักจะอยู่ในย่านชุมชนหรือในห้างสรรพสินค้า และการตกแต่งร้านหนังสือก็สวยงามเป็นสัดส่วนมากกว่าแผงหนังสือทั่ว ๆ ไป
เมื่อนิตยสารเล่มถูกแปลงร่างเป็นนิตยสารติจิตอล และหนังสือก็มีอีบุ๊คเป็นร่างสำรอง แผงหนังสือและร้านหนังสือทั่ว ๆ ไปตัวจริงเสียงจริง จึงมีตัวตนในโลกดิจิตอลในรูปแบบของ Newsstand และ E-Book Store ที่เราต่างคุ้นเคยกันนั่นเอง เมื่อพูดถึง Newsstand ที่มีการจัดการนิตยสารออนไลน์ได้สวยงามน่าใช้มาก ๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น Newsstand Application ของ Apple นั่นเอง ทางฝั่งอเมซอนซึ่งครองตลาดหนังสือออนไลน์ส่วนใหญ่ในอเมริกาเอง ก็มีส่วนของ Newsstand อยู่ด้วยเหมือนกัน โดยที่ผู้อ่านจะเลือกอ่านนิตยสารออนไลน์ผ่านทางฟีเจอร์ Newsstand ภายในแอพลิเคชั่น Amazon Kindle ซึ่งก็นับว่าเป็นการรวมคุณสมบัติของแผงหนังสือออนไลน์รวมเข้ากับร้านหนังสือออนไลน์ไปเลยในแอพตัวเดียว ส่วนทาง Google Play Newsstand Application ของทางกูเกิ้ลนั้น แม้จะมีชื่อว่าแผงหนังสือ แต่ถ้าหากดูที่ Content แล้วเหมือนจะเป็นการรวบรวมข่าวจากบล็อคและนิตยสารออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่ฉบับที่จัดพิมพ์ ดังนั้น Google Play Newsstand จึงจะมีลักษณะเดียวกับ Flipboard Application คือเป็นเครื่องมือรวบรวมข่าวสาร (Content Curation Tools) มากกว่าจะเป็นแอพสำหรับอ่านนิตยสารดิจิตอลจริง ๆ
Application | Newsstand | E-Book Store |
---|---|---|
iOS Newsstand | Newsstand | |
Amazon Kindle | Newsstand | E-Book Store |
Magzter | Newsstand | E-Book Store |
Zinio | Newsstand | |
Issuu | Newsstand | |
PressReader (NewspaperDirect) | Newsstand | |
Ookbee | Newsstand | E-Book Store |
MEB | Newsstand | E-Book Store |
นอกจาก Newsstand หลัก ๆ ของ Apple และ Amazon แล้ว ยังมีผู้จัดจำหน่ายนิตยสารผ่าน Newsstand อื่น ๆ อีก อย่างเช่น Zionio ซึ่งเป็นรายแรก ๆ ที่ให้บริการอ่านนิตยสารออนไลน์ และมีปัจจุบันมีนิตยสารให้เลือกอ่านมากกว่า 5,000 ฉบับ แต่ยังไม่มีนิตยสารภาษาไทยในแอพนี้ให้ได้อ่านกัน ส่วน Magzter นั้นเป็นแอพอ่านนิตยสารน้องใหม่เพิ่งก่อนตั้งเมื่อปี 2011 โดยมีนิตยสารให้อ่านมากกว่า 4,000 ฉบับ ข้อดีของ Magzter ก็คือ มีนิตยสารภาษาไทยวางจำหน่ายด้วยแม้จะยังไม่มากนักก็ตาม และที่สำคัญคือ ขณะนี้ผู้อ่านสามารถอ่านนิตยสาร Premium ได้ฟรี ! แต่มีเวลาจำกัดนะจ๊ะ
บล็อคเกอร์ Michael Kozlowski แห่ง goodereader.com เป็นคนบอกข่าวดีว่า Magzter App ใจดีให้ผู้ใช้งานได้อ่านแมกกาซีนฟรี ๆ ในช่วงเทศกาล Thanksgiving นี้เท่านั้น โดยข้อเสนอดังกล่าวใช้ได้กับผู้อ่านระบบแอนดรอยด์เท่านั้น ทั้งนี้ที่หน้าดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นของ Magzter ได้กล่าวว่า ‘Celebrating Thanksgiving Month on Magzter – 30 Days of FREE access to all magazines!’ สรุปสั้น ๆ คือในช่วงนี้ผู้อ่านจะได้สิทธิอ่านฟรี 30 วัน ซึ่งบอกตามตรงว่า แอดมินก็ไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดโปรโมชั่นลงเมื่อไหร่แน่ ดังนั้นถ้าใครอยากอ่านนิตยสารระดับพรีเมี่ยมอย่าง National Geographic, Esquire, Cosmopolitan, Elle, ESPN, Maxim, Fast Company, Forbes และอื่น ๆ อีกมากมายแล้ว ก็อย่ารอช้ารีบโหลดแอพอ่านนิตยสารฟรีตัวนี้อย่างไว เพราะนอกจากนิตยสารหัวนอกแล้ว นิตยสารไทยก็มีให้อ่านกันหลายเล่ม เช่น Forbes Thailand, Hello! Thailand, VOGUE Thailand, madame FIGARO Thailand, Modern Mom, รักลูก,Thailand Tatler, Lisa Weekly, Stuff Thailand, FHM thailand, Maxim Thailand, Zoo Weekly Thailand, Attitude Thailand, Men’s Health Thailand, Woman’s Health Thailand เป็นต้น ซึ่งจากที่ได้ลองสำรวจดูแล้วก็อ่านได้เกือบหมดจะขาดไปก็เพียงบางฉบับเท่านั้น
นิตยสารเป็นสื่อที่สะท้อนบุคลิกของผู้อ่านได้ทางหนึ่ง การเลือกอ่านนิตยสารแต่ละเล่มนั้นนอกจากเนื้อหาแล้ว การจัดหน้าปก นายแบบ นางแบบ รวมไปถึงการจัดหน้าที่สวยงาม กลิ่นของหนังสือและการได้สัมผัสหนังสือแต่ละหน้า ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้อ่านชื่นชอบนิตยสารเล่มนั้น ๆ เมื่อได้อ่านนิตยสารดิจิตอลผ่านทางแท็บเล็ตแทนที่หนังสือเล่มแล้ว โดยส่วนตัวคิดว่ายังเทียบกับนิตยสารเล่มไม่ได้เพราะเสน่ห์เฉพาะตัวในการสัมผัสกระดาษและดีไซน์จริง ๆ นั้นถูกตัดตอนทิ้งไปเกือบหมด ดังนั้นถ้าหากจะอ่านเพื่อความรื่นรมย์แล้วนิตยสารเล่มยังมีข้อดีที่ทำให้วางไม่ลงมากกว่า แต่ถ้าจะอ่านเพื่อเอาความสะดวกและเนื้อหาแล้ว การโหลด Magazine มาอ่านผ่านแอพ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะผู้อ่านก็ได้สาระเต็มที่เหมือนเดิม นอกจากนี้การสั่งซื้อนิตยสารออนไลน์ รวมไปถึงการซื้อนิตยสารฉบับย้อนหลังก็ทำได้รวดเร็วสะดวกกว่ากันมากด้วย
Magzter เริ่มต้นจากการเป็น Newsstand สำหรับอ่านนิตยสารเป็นหลัก แต่ผู้พัฒนาก็เริ่มมีอีบุ๊คเข้ามาจำหน่ายบ้างแล้ว ตัวฟีเจอร์ของ Magzter จึงอาจมีลักษณะของผสมกันระหว่าง Newsstand กับ E-Book Store แต่สำหรับบทความนี้เราจะรีวิวกันในแง่ที่เป็น App นิตยสาร สำหรับใครที่ยังไม่เคยใช้ก็สามารถลงทะเบียนผ่านตัวแอพได้เลยหรือจะลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ magzter.com ก็ได้ แต่สำหรับการอ่านนิตยสารฟรีนั้นจะอ่านฟรีได้ผ่านทาง Magzter Android App เท่านั้น ข้อที่ประทับใจอย่างนึงสำหรับแอพนี้ก็คือเมื่อลงทะเบียนเพื่อทดลองใช้ฟรี ทางเว็บก็ไม่ได้ขอข้อมูลบัตรเครดิตเอาไว้เป็นตัวประกันแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นจึงสบายใจได้ แล้วจากนั้นก็เริ่มมองหานิตยสารที่สนใจแล้วก็ดาวน์โหลดนิตยสารมาอ่านกันฟรี ๆ ได้เลย
เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเลือกอ่านนิตยสารที่ต้องการได้ แต่ Store ของแต่ละประเทศจะแสดงนิตยสารแต่ละเล่มแตกต่างกันไป ถ้าผู้อ่านต้องการอ่านนิตยสารจากประเทศไหนก็ให้เลือกจากการตั้งค่าได้เลย โดยการตั้งค่าประเทศต่าง ๆ จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดตามที่ผู้ใช้ต้องการ ที่หน้าร้านจะแบ่งฟีเจอร์เป็น International Featured, Featured, Top Paid, New Arrivals และ Top Free
นอกจากนี้ยังสามารถค้นหานิตยสารจากฟีเจอร์ Categories เพื่อค้นหานิตยสารตามหมวดหมู่ต่าง ๆ หรืออาจจะใช้วิธี Search หาชื่อนิตยสารเลยก็ได้
เมื่อเจอนิตยสารที่หมายตาไว้แล้วก็กดอ่านได้เลย หลังจากนั้นตัวแอพก็จะดาวน์โหลดนิตยสารมาให้อ่านได้ ทั้งนี้ไม่ต้องรอให้โหลดหมดทั้งเล่ม ในระหว่างที่ดาวน์โหลดนั้นก็อ่านบทความ ดูรูปภาพที่โหลดมาเรียบร้อยแล้วไปได้เพลิน ๆ
นิตยสารที่วางจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นไฟล์ PDF ดังนั้นผู้อ่านจึงต้องใช้วิธีซูมเข้าซูมออกเพื่ออ่านคอลัมน์ที่ต้องการ นอกจากอ่านเฉย ๆ แล้ว ผู้อ่านยังสามารถ Bookmark หน้าที่ต้องการได้ด้วย หรือถ้าอยากจะเขียน Comment ก็ทำได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม Magzter มีฟีเจอร์ให้สำนักพิมพ์สามารถวางนิตยสารแบบ Interactive Magazine ได้ ซึ่งอินเตอร์แอคทีฟแมกกาซีนจะมีรูปแบบที่เหมาะกับการอ่านผ่านทางแท็บแล็ตมากกว่า แต่ยังมีสำนักพิมพ์ที่ทำนิตยสารในฟอร์แมทดังกล่าวน้อยอยู่ หนึ่งในนั้นคือ นิตยสาร Forbes India สำหรับในตัวอย่างด้านล่างเป็นนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค ซึ่งเป็นไฟล์ PDF
เมื่อเทียบความสวยงามของนิตยสารดิจิตอลที่เป็นไฟล์ PDF จากแอพ Magzter กับนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิค ที่เป็น Interactive Magazine ใน Newsstand ของ iOS แล้วจะเห็นว่า Newsstand ของ iOS สวยงามกว่ามาก เพราะการจัดหน้านั้นผลิตขึ้นสำหรับอ่านบนแท็บเล็ตโดยเฉพาะ การจัดวางพื้นที่จึงลงตัวกว่า และยังมีข้อได้เปรียบตรงที่ใส่ลูกเล่นในเชิงกราฟฟิค คลิปวีดีโอหรือมัลติมีเดียอื่น ๆ เพิ่มได้ ในขณะที่ Magzter นั้นเป็นการจับเอาไฟล์หนังสือฉบับพิมพ์มาแปลงเพื่ออ่านด้วยแท็บเล็ตเฉย ๆ
Source: pando.com
Photo: Frank Hemme